บทที่ 1 การศึกษา การพัฒนามนุษย์ กับหลักสูตร
การศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์ ผ่านกระบวนการสั่งสอน กระบวนการฝึกอบรม หรือกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญ และทัศนคตินี้รวมเรียกว่าประสบการณ์ ซึ่งมนุษย์เป็นผู้จัดและถ่ายทอดให้แก่กัน หมายรวมถึงวัฒนธรรมหรือวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งที่มองเห็นได้ชัดเจนและมองไม่เห็น1.การศึกษาในฐานะเครื่องมือการพัฒนา
การศึกษา (Education) เป็นการเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ให้สามารถปฏิบัติงานที่มีความแตกต่างจากเดิมได้ การศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนามนุษย์ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง และในฐานะที่เป็นทรัพยากรการศึกษา เป็นการพัฒนาคนที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้(knowledge-based)
วิจิตร ศรีสะอ้าน |
วิจิตร ศรีสะอ้าน (2539 : 232-233) กล่าวว่า การศึกษามีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1. การศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่ปรารถนา
2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เป็นไปโดยจงใจ โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมายซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดไว้
3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้กระทำเป็นระบบ มีกระบวนการอันเหมาะสมและผ่านสถาบันทางสังคมที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้านการศึกษา
2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนา (Development) เป็นการฝึกอบรมคนให้มีความสามารถใหม่ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ มุมมองใหม่ เป็นต้นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย หลักสูตรการศึกษาระดับต่างๆ ต้องมีลักษณะหลากหลาย ทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับ โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
3.หลักสูตร
3.1 ความหมายของหลักสูตรคำว่า "หลักสูตร" แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า "curriculum" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า "currere" หมายถึง "running course" หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง ต่อมาได้นำศัพท์นี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า "running sequence or learning experience" (Armstrong,1986 : 2) การที่เปรียบเทียบหลักสูตรกับสนาม หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งอาจเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดหรือหลักสูตรใดก็ตาม ผู้เรียนจะต้องฟันฝ่าความยากของวิชาหรือประสบการณ์การเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้ในหลักสุตร เช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องวิ่งแข่งและฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ชัยชนะ และความสำเร็จให้ได้
กู๊ด (Good, 1973 : 157) ได้ให้ความหมายของคำศัพท์ไว้ในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary of Education) ว่า หลักสูตร คือ กลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบหรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับการจบการศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรใบสาขาวิชาหลักต่างๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษาและหลักสูตรพลศึกษา
บ๊อบบิท (Bobbit, 1972 : 42) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หลักสูตร คือ รายการของสิ่งต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนต้องทำและมีประสบการณ์ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้ดีเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
นักลีย์และอีแวนส์ (Neagley and Evans, 1967 : 2) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ ประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามความสามารถของ
นักเรียน
โอลิวา (Oliva, 1982 : 10) กล่าวว่า หลักสูตร คือ แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบปัญหาภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน
วีลเลอร์ |
วีลเลอร์ (Wheenler, 1974 : 11) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า มวลประสบการณ์ การเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนหรือสถานศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
โครว์ (Crow,1980 : 250) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรคล้ายกับวิลเลอ์ เขากล่าวว่า หลักสูตรเป็นประสบกาณ์ที่นักเรียนได้รับทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย สังคม ปัญญา และจิตใจ
แคสเวนและแคมป์เบลล์ (Caswell & Campbell, 1935 : 69) ให้ความหมายของหลักสูตรว่า "หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์ทุกอย่างที่จัดให้แก่เด็กโดยอยู่ในความดูแลของครูผู้สอน"
เซย์เลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor & Alexander,1974 : 6) ให้ความหมายของหลักสูตรว่า "เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้ให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ"
เชฟเวอร์และเบอร์เลค (Shaver & berlak, 1968 : 9) กล่าวว่า หลักสูตร คือ กิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนได้เล่น เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้
ทรัมพ์และมิลเลอร์ (Trump and Miller, 1973 : 11-12) กล่าวว่า หลักสูตร คือ กิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่าง ๆ ที่เตรียมการไว้และจัดให้แก่เด็กนักเรียนหรือระบบโรงเรียน
สุมิตร คุณากร (2520,2-3) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้สองระดับ คือ หลักสูตรระดับชาติ หมายถึง "โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้" ส่วนหลักสูตรในดับโรงเรียน หมายถึง "โครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป้นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้"
ธำรง บัวศรี |
ธำรง บัวศรี (2532 : 6) ให้ความหมายของหลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อได้แสดงถึงจุดมุ่งหมายการจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และประมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามจุดหมายที่กำหนดไว้
เอกวิทย์ ณ ถลาง |
เอกวทย์ ณ ถลาง ให้ความหมายว่า หลักสูตร หมายถึงมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้เด็กได้เรียนเนื้อหาวิชาและทัศนคติแบบพฤติกรรม กิจวัตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อประมวลเข้ากันแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็กถือว่าเป็นหลักสูตรทั้งสิ้น
3.2 คุณสมบัติของหลักสูตร
คุณสมบัติของหลักสูตร หมายถึง ธรรมชาติหรือลักษณะของหลักสูตรว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอาจหมายรวมถึงข้อตกลง หรือข้อยอมรับเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของหลักสูตร คุณสมบัติหรือกฎเกณฑ์ของหลักสูตรมีดังนี้
3.2.1. หลักสูตรมีลักษณะเป็นพลวัต และเปลี่ยนไปตามความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ คุณสมบัติข้อนี้แสดงว่าประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดให้แก่ผู้เรียนจะไม่ซ้ำเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนแปลงและเพิ่มอยู่เสมอ
3.2.2. การพัฒนาหลักสูตรเป็นการพัฒนาต่อเนื่อง คุณสมบัติข้อนี้มีลักษณะใกล้เคียงและเสริมข้อแรก คือ หลักสูตรมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันไปตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
3.2.3. หลักสูตรไม่สามารถแสดงกิจกรรมหรือกระทำกิจกรรมต่างๆด้วยตัวของมันเองได้จึงจำเป็นต้องใช้กิจกรรมหรือการกระทำอย่างอื่นมาช่วย
3.3 ความสำคัญของหลักสูตร
1. หลักสูตรเป็นเสมือนเบ้าหลอมพลเมืองให้มีคุณภาพ
2. หลักสูตรเป็นมาตรฐานของการจัดการศึกษา
3. หลักสูตรเป็นโครงการและแนวทางในการให้การจัดการศึกษา
4. ในระดับโรงเรียนหลักสูตรจะให้แนวการปฏิบัติแก่ครู
5. หลักสูตรเป็นแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็กตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา
6. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดประสบการณ์ว่าผู้เรียนและสังคมควรจะได้รับสิ่งใดบ้างที่จะเป็นประโยชน์แก่เด็กโดยตรง
7. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดว่าเนื้อหาวิชาอะไรบ้างที่จะช่วยให้เด็กมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
8. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดว่า วิธีการดำเนินชีวิตของเด็กให้เป็นไปด้วยความราบรื่นและผาสุกเป็นอย่างไร
9. หลักสูตรย่อมทำนายลักษณะของสังคมในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
10. หลักสูตรกำหนดแนวทางความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ ทักษะ และเจตคติ
3.4 องค์ประกอบของหลักสูตร
องค์ประกอบของหลักสูตรอาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ส่วนใหญ่มีประเด็นหรือองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้หลักสูตรสามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบที่สำคัญ คือ
3.4.1 จุดมุ่งหมายของหลักสูตร
3.4.2 เนื้อหา
3.4.3 การนำหลักสูตรไปใช้
3.4.4 การประเมินผลหลักสูตร
3.5 ลักษณะของหลักสูตรที่ดี
1. ตรงตามความมุ่งหมายของการศึกษา
2. ตรงตามลักษณะของพัฒนาการของเด็กในวัยต่างๆ
3. ตรงตามลักษณะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและเอกลักษณ์ของชาติ
4. มีเนื้อหาสาระในเรื่องที่สอนเพียงพอที่จะช่วยให้นักเรียนคิดเป็น และมีพัฒนาการทุกด้าน
5. สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผุ้เรียน คือ จัดวิชาทักษะ และเนื้อหาวิชาให้เหมาะสมกันที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเจริญงอกงามทุกด้าน
6. หลักสูตรที่ดีควรสำเร็จขึ้นด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อจะให้ได้ผลดีควรจัดให้เป้นคณะกรรมการ
7. หลักสูตรที่ดีจะต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ต่อไป และจะต้องเรียงลำดับความยากง่ายไม่ให้ขาดตอนจากกัน
8. หลักสูตรที่ดีจะต้องเป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเด็ก เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต เพื่อให้เป็นอยู่อย่างผาสุก
9. หลักสูตรที่ดีจะต้องเพิ่มพูนและส่งเสริมทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นของเด็ก
10. หลักสูตรที่ดีย่อมส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้ ทักษะ เจตคติ ความคิดริเริ่ม มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินชีวิต
11. หลักสูตรที่ดีจะต้องส่งเสริมให้เด็กทำงานเป็นอิสระ และทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ เพื่อพัฒนาให้รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย
12. หลักสูตรที่ดีย่อมบอกแนวทาง วิธีการสอน และสื่ออุปกรณ์ประกอบเนื้อหาสาระที่สอนไว้อย่างเหมาะสม
13. หลักสูตรที่ดีย่อมมีการประเมินผลอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องที่จะนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งๆขึ้นไป
14. หลักสูตรที่ดีจะต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กเกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีโอกาสแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
15. หลักสูตรที่ดีต้องส่งเสริมให้เด็ฏรู้จักแก้ปัญหา
16. หลักสูตรที่ดีต้องจัดประสบการณ์ที่มีความหมายต่อชีวิตของเด็ก
17. หลักสูตรที่ดีต้องจัดประสบการณ์และกิจกรรมหลายๆอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกอย่างเหมาะสมตามความสนใจ ความต้องการ และความสามารถของแต่ละบุคคล
18. หลักสูตรที่ดีจะต้องวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างเหมาะสมแก่การนำไปปฏิบัติและสะดวกแก่การวัดและประเมินผล
สรุป
หลักสูตรมีความสำคัญยิ่งในการจัดการศึกษา เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นแนวทางในการจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียน อันเปรียบเสมือนแผนที่หรือเข็มทิศที่จะนำทางในการวัดการศึกษาให้บรรลุผล หลักสูตรที่ดีจะต้องมีความชัดเจนเหมาะสมกับผู้เรียนและสังคม ซึ่งจะทำให้การนำหลักสูตรไปใช้หรือการจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นในการจัดทำหรือการพัฒนาหลักสูตรจึงควรถือเป็นงานสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการ เพื่อให้ได้หลักสูตรในระดับต่างๆ ที่ดีเพราะถ้าเรามีหลักสูตรที่ดีถูกต้องเหมาะสม การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางในเรื่องการศึกษาจะเป็นไปโดยราบรื่น สามารถสร้างลักษณะสังคมที่ดีในอนาคตโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมืออย่างเต็มภาคภูมิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น